บทที่ 1

บทที่ 1

บทนำ

 

ภูมิหลัง

หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง พุทธศักราช 2546 พัฒนาขึ้นให้สอดคล้องกับพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 และความเจริญก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี เศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม และวัฒนธรรม เพื่อผลิตและพัฒนาแรงงานระดับผู้ชำนาญการที่มีความรู้ ความชำนาญ ประสบการณ์ ในสาขาอาชีพ มีคุณธรรม จริยธรรม วินัย เจตคติ บุคลิกภาพ ความคิดสร้างสรรค์ ความสามารถในการจัดการ การตัดสินใจ การแก้ปัญหา การพัฒนางานและพัฒนาตนเองให้ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน สอดคล้องกับสภาวะเศรษฐกิจและสังคม ทั้งในระดับชุมชน ระดับท้องถิ่น และระดับชาติ  โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้เรียนตามความถนัด ความสนใจ ศักยภาพและโอกาสของตน สามารถถ่ายโอนผลการเรียน เทียบความรู้และประสบการณ์จากแหล่งวิทยาการ สถานประกอบการและสถานประกอบอาชีพอิสระ เปิดโอกาสให้สถานศึกษา ชุมชน ท้องถิ่น ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมีส่วนร่วมพัฒนาหลักสูตรและการจัดการศึกษา โดยมีหลักการและจุดมุ่งหมายดังนี้ คือ

 

หลักการของหลักสูตร ประกอบด้วย

1. เป็นหลักสูตรที่มุ่งผลิตและพัฒนาแรงงานระดับผู้ชำนาญการเฉพาะสาขาอาชีพ สอดคล้องกับตลาดแรงงาน สภาพเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม เทคโนโลยีและสิ่งแวดล้อม สามารถเป็นหัวหน้างานหรือผู้ประกอบการได้  

2. เป็นหลักสูตรที่มุ่งเน้นให้นักเรียนมีสมรรถนะในการประกอบอาชีพ มีความรู้เต็มภูมิ ปฏิบัติได้จริงและเข้าใจชีวิต

3. เป็นหลักสูตรที่เปิดโอกาสให้ผู้ประกอบการวิชาชีพมีส่วนร่วมในการเรียนการสอนวิชาชีพ สามารถถ่านโอนประสบการณ์การเรียนรู้จากสถานประกอบการ และสามารถสะสมการเรียนรู้และประสบการณ์ได้

 

จุดมุ่งหมายของหลักสูตร

1. เพื่อให้มีความรู้และทักษะพื้นฐานในการดำรงชีวิต สามารถค้นคว้าเพิ่มเติมหรือศึกษาต่อในระดับที่สูงขึ้น

2. เพื่อให้มีทักษะและสมรรถนะในงานอาชีพตามมาตรฐานวิชาชีพ

3. เพื่อให้สามารถบูรณาการความรู้ ทักษะจากศาสตร์ต่างๆประยุกต์ใช้ในอาชีพ สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี

4. เพื่อให้มีเจตคติต่ออาชีพ มีความมั่นใจและภาคภูมิใจในงานอาชีพ รักงาน รักองค์กร สามารถทำงานเป็นหมู่คณะได้ดี และมีความภาคภูมิใจในตนเองต่อการเรียนวิชาชีพ

5. เพื่อให้มีปัญญาใฝ่รู้ ใฝ่เรียน มีความคิดสร้างสรรค์ มีความสามารถในการจัดการจัดการ การตัดสินใจ และแก้ปัญหา รู้จักแสวงหาแนวทางใหม่ มาพัฒนาตนเอง ประยุกต์ใช้ความรู้ในการสร้างงานให้สอดคล้องกับวิชาชีพ และการพัฒนางานอาชีพอย่างต่อเนื่อง

6. เพื่อให้นักเรียนมีบุคลิกภาพที่ดี มีคุณธรรม จริยธรรม ซื่อสัตย์ มีวินัย มีสุขภาพสมบูรณ์แข็งแรงทั้งร่างกายและจิตใจ เหมาะสมกับการปฏิบัติในอาชีพนั้นๆ

7. เพื่อให้เป็นผู้มีพฤติกรรมทางสังคมที่ดีงาม ทั้งในการทำงาน การอยู่ร่วมกัน มีความรับผิดชอบต่อครอบครัว องค์กร ท้องถิ่นและประชาชาติ อุทิศตนเพื่อสังคม เข้าใจและเห็นคุณค่าของศิลปวัฒนธรรมไทย ภูมิปัญญาท้องถิ่น ตระหนักในปัญหาและความสำคัญของสิ่งแวดล้อม

8. เพื่อให้ตระหนักและการมีส่วนร่วมในการพัฒนาและแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจของประเทศ โดยมีกำลังสำคัญในด้านการผลิตและให้บริการ

9. เพื่อให้เห็นคุณค่าและดำรงไว้ซึ่งสถาบันชาติ ศาสนา และพระมหากษัตริย์ ปฏิบัติตนในฐานะพลเมืองดี ตามระบอบประชาธิปไตย อันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข  

          จากจุดมุ่งหมายและหลักการของหลักสูตร สถานศึกษาบางสถานศึกษาก็ไม่สามารถที่จัดการศึกษาให้มีความสอดคล้องกับหลักสูตรที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนที่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากมีปัจจัยหลายประการ เช่น เงินทุนที่ใช้ในการบริหารจัดการไม่เพียงพอ อุปกรณ์ ที่ใช้ในการจัดการเรียนการสอนไม่พร้อม   การจ้างบุคลากรที่มีความรู้ความสามารถมาสอนในสถานบันด้วยอัตราค่าจ้างที่สูง ความแตกต่างของผู้มีผู้เรียน รวมทั้งวิธีการสอนของครูที่ขาดความชำนาญ ซึ่งปัจจัยเหล่านี้ ทำให้การจัดการศึกษาของแต่ละสถาบันไม่ได้มาตรฐานตามจุดมุ่งหมายของหลักสูตรส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์อยู่ระดับต่ำกว่ามาตรฐานโดยเฉพาะผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนที่เป็นวิชาชีพของแต่ละสาขา ซึ่งมีสาเหตุจากการจัดการเรียนการสอนของครูทั้งด้านสื่อการสอน เทคนิคการสอน และวิธีการประเมินผลไม่สอดคล้องกับสภาพของผู้เรียน

สำหรับการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนของครูและนักเรียน สาขาการบัญชี พบว่า วิธีการสอนของครูจะใช้วิธีการบรรยายหลักทฤษฎี และยกตัวอย่างตามแบบเรียน โดยไม่มีสถานการณ์จริงที่เกิดขึ้นในชีวิตประจำวันมาเป็นตัวอย่างในคาบเรียน การสอน เน้นครูเป็นศูนย์กลาง เพราะวิชาการบัญชีเป็นวิชาที่ต้องคำนวณ ด้านสื่อการสอน จะใช้หนังสือเรียนที่เป็นตำราภาษาไทย การจัดกิจกรรมภายในห้องเรียนมีน้อย เนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สนับสนุนในการใช้สื่อการสอนของครูมีไม่เพียงพอ  การจัดประสบการณ์ในการเรียนนอกสถานยังไม่มี ส่งผลให้การจัดการเรียนการสอนไม่ประสบความสำเร็จตามที่ครูได้กำหนดไว้

                ทั้งนี้ในการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 พบว่านักเรียนส่วนใหญ่ จะนั่งเรียนกันตามความสนิทสนม ส่วนใหญ่ คนเก่งก็จะนั่งกับคนเก่ง ขาดการปฏิสัมพันธ์ระหว่างกลุ่ม ไม่มีส่วนร่วมในการเรียน ขาดทักษะในการคิด วิเคราะห์ การทำแบบฝึกหัด จะใช้วิธีการลอกจากคนที่เรียนเก่ง โดยไม่มีการคิด วิเคราะห์ ด้วยตนเอง เพื่อส่งครูให้ทันเวลาตามที่กำหนด  เมื่อมีข้อสงสัยในบทเรียนไม่กล้าที่จะถามครูผู้สอน  และในการทดสอบความรู้จะอ่านหนังสือก่อนเข้าห้องสอบโดยไม่มีการเตรียมความพร้อมล่วงหน้า ส่งผลให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนต่ำกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้

                ดังนั้นจากปัญหาที่เกิดขึ้น ผู้วิจัยได้เห็นถึงความสำคัญในการแก้ปัญหาและมีความประสงค์ที่จะศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนในรายวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 ของนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 โดยใช้ทฤษฎีการจัดการเรียนการสอนแบบสแตด เพื่อพัฒนาการจัดกิจกรรมเรียนการสอนให้เหมาะสมและสอดคล้องกับความสามารถของผู้เรียนที่มีผลทำให้นักเรียนมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเป็นไปตามเกณฑ์ของหลักสูตร

 

ความมุ่งหมายของการวิจัย

1. เพื่อศึกษาผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 ของนักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณอาชีวศึกษาจากการสอนแบบสแตด

2. เพื่อเปรียบเทียบผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 ของนักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณอาชีวศึกษา ระหว่าง ก่อน และ หลังการสอนแบบสแตด

 

ประโยชน์ของการวิจัย

1. ใช้วิธีการสอนแบบสแตด เป็นรูปแบบการสอนสำหรับนักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ที่มีผลทำให้นักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น 

2. เป็นแนวทางในการพัฒนาการจัดกิจกรรมเรียนการสอนของครู ที่มีผลทำให้ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 ของวิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณอาชีวศึกษา มีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนสูงขึ้น

ขอบเขตการวิจัย

  1. ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                      ประชากรในการวิจัย

                           นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาอาชีวศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 38 คน   

                     กลุ่มตัวอย่าง

                         นักศึกษาหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูงปีที่ 2 สาขาวิชาการบัญชี วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณาอาชีวศึกษา ภาคเรียนที่ 1 ปีการศึกษา 2557 จำนวน 38 คน โดยเลือกมาทั้งหมดจากประชากร

2. ตัวแปรที่ศึกษา

                ตัวแปรต้น วิธีการสอนแบบสแตด

                ตัวแปรตาม ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนของนักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง 

          

3. นิยามศัพท์เฉพาะ

                  ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการบันทึกบัญชีและการจัดทำกระดาษทำการของสำนักงานใหญ่และสาขาในราคาสูงกว่าทุน หมายถึง ความรู้เชิงทฤษฎี และความสามารถในการบันทึกบัญชีและจัดทำกระดาษทำการกรณีสำนักงานใหญ่ส่งสินค้าให้สาขาในราคาสูงกว่าทุน

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

 

กรอบแนวคิดการวิจัย

การสอนสแตด                                             จุดประสงค์                 ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนเรื่องการ

                                                                                                              จัดทำงบพิสูจน์ยอดบัญชีเดินสะพัด

                                                                                                             สำนักงานใหญ่และสาขา

ขั้นนำเข้าสู่บทเรียน

   1. ทบทวนเนื้อหาที่ผ่านมา            1.ระลึกความรู้เดิม                               1. ความรู้ตามหลักทฤษฎีใน

   2. แจ้งจุดประสงค์การเรียนรู้        2.ตระหนักถึงการเรียน                          ในการในบันทึกบัญชี 

ขั้นสอน

   3. นำเสนอบทเรียนโดยใช้       3.นักเรียนทราบหลักการ                   2. ทักษะในการบันทึกบัญชีของ

      ความคิดรวบยอด                            ของบัญชีที่สำคัญ                                ของสำนักงานใหญ่และสาขา                                                                                    

ขั้นจัดกิจกรรม                                                                                                         กรณีสำนักงานใหญ่ส่งสินค้าให้

   4.จัดกิจกรรมกลุ่มโดยใช้               4. นักเรียนมีทักษะในการ                      สาขาสูงกว่าทุน                

       แบบฝึกหัด                                       คิด วิเคราะห์ ร่วมกัน 

ขั้นสรุปผล

  5. สรุปองค์ความรู้ที่เรียน                5. นักเรียนมีทักษะเพิ่มขึ้น

ขั้นการประเมินผล                                ในการบันทึกบัญชี

  6. แบบทดสอบ                              6. ฝึกทักษะในการวิเคราะห์

                                                                    ข้อมูล และบันทึกบัญชี

 

 

 

 

 

 

 

 

สมมุติฐานการวิจัย

1. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 หลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณอาชีวศึกษา จากการสอนแบบสแตด อยู่ในระดับดี 

2. ผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนวิชาการบัญชีชั้นสูง 2 ของนักเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง ปีที่ 2 วิทยาลัยเทคโนโลยีทักษิณอาชีวศึกษาหลังจากการสอนแบบสแตดมีผลสัมฤทธิ์ทางการเรียนดีขึ้น